หม่อมทิพวัน กฤดากร ณ อยุธยา หรือนามเดิม เจ้าทิพวัน ณ เชียงใหม่ (13 มิถุนายน พ.ศ. 2426 — 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2497) นางข้าหลวงในเจ้าดารารัศมี พระราชชายา และอดีตหม่อมในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช
หม่อมทิพวัน เป็นธิดาของเจ้าเทพดำรงค์รักษาเขต เจ้าฟ้าเมืองขุนยวม ผู้รักษาเมืองชายแดนแถบลุ่มแม่น้ำสาละวินสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ กับเจ้าปิมปา ณ เชียงใหม่ หลานสาวเจ้าราชบุตร (สุริยฆาต) ณ นครเชียงใหม่ เจ้าราชโอรสองค์ใหญ่ในพระเจ้ากาวิละ
หม่อมทิพวันเสกสมรสกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ซึ่งได้พบรักกันในขณะที่เจ้าทิพวัน ได้เข้ามาอยู่กับเจ้าดารารัศมี ในพระราชวังดุสิต มีธิดา 1 พระองค์ แต่ถึงแก่อนิจกรรมตั้งแต่คลอด
หลังจากนั้นพระองค์เจ้าบวรเดชได้เสกสมรสกับเจ้าศรีนวล ณ เชียงใหม่ น้องสาวของเจ้าทิพวันเป็นหม่อมคนใหม่ หม่อมทิพวันจึงกลับไปประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่ตำบลแม่แฝก อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาพระองค์เจ้าบวรเดช ต้องอาญาในฐานความผิดกบฏ และหนีไปอาศัยอยู่ที่ประเทศเวียดนาม จนกระทั่งได้รับพระราชทานอภัยโทษจึงกลับมาตั้งโรงงานพิมพ์ผ้าที่อำเภอหัวหิน ซึ่งหม่อมทิพวันก็ได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนด้วย
ในปี พ.ศ. 2452 หม่อมทิพวันได้มีโอกาสสนองพระเดชพระคุณในการถวายพระอภิบาลแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้านายเล็ก ๆ ที่เสด็จไปทรงศึกษาวิชาอยู่ในยุโรปในเวลานั้นหลายพระองค์ ในฐานะภริยาเอกอัครราชทูต และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงก็ได้ทรงเมตตาเป็นพิเศษ พระราชทานเครื่องเพชรประดับกายอย่างสมเกียรติ
หม่อมทิพวันได้มีโอกาสรำถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อคราวเสด็จประพาสจังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2469 และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ให้แก่หม่อมทิพวันในครั้งนั้น
หม่อมทิพวันได้สร้างเตาบ่มใบยาสูบ ที่บ้านหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ และริเริ่มเพาะปลูกและบ่มใบยาเวอร์ยิเนียเป็นรายแรกในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2486
หม่อมทิพวัน ได้บริจาคที่ดิน 9 ไร่ เพื่อสร้างวัด เมื่อปี พ.ศ. 2482 และได้เป็นประธานสร้างพระวิหาร ในปี พ.ศ. 2490 สำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2494 ใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวในการก่อสร้าง 81,500 บาท ชาวบ้านจึงได้ขนานนามวัดนี้ว่า "วัดทิพวนาราม"
ในปี พ.ศ. 2483 เจ้าทิพวัน ได้มอบที่ดินจำนวน 10 ไร่ เพื่อสร้างโรงเรียนประชาบาลประจำตำบลหนองหาร ซึ่งปัจจุบันคือ โรงเรียนบ้านหนองหาร (ทิพวันอุทิศ)
หม่อมทิพวัน เคยได้รับตำแหน่งนายกสมาคมสตรีศรีล้านนา เมื่อปี พ.ศ. 2496 และเป็นกรรมการสมาคมผู้บ่มเพาะปลูกยาสูบแห่งประเทศไทย
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/เจ้าทิพวัน_กฤดากร_ณ_อยุธยา